โครงการ
ในแต่ละปี ผู้คนอพยพย้ายถิ่นเพื่อไปทำงานในประเทศอื่นเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี และพวกเขาได้กลายเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังคงเห็นแนวปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในการจัดหางานแรงงานข้ามชาติสำหรับงานค่าจ้างต่ำอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลมีบทบาทที่สำคัญในการทำให้เกิดการจัดหางานที่เป็นธรรม โดยหลายประเทศได้มีการพัฒนากรอบกฎหมายเพื่อนำไปบังคับใช้ ในขณะที่อีกหลายประเทศยังไม่สามารถขจัดการปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิได้อย่างสิ้นซาก เมื่อเทียบกับแนวทางเชิงปฏิบัติต่างๆ ที่ออกมาเพื่อบรรษัทข้ามชาติในการจ้างงานอย่างมีจริยธรรมในปีที่ผ่านมาแล้ว พบว่างานวิจัยที่มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลดำเนินการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิในกระบวนการจัดหางานยังมีจำนวนน้อย โครงการนี้เป็นความพยายามในการเติมเต็มช่องว่างทางการวิจัยและข้อมูลด้านดั่งกล่าวนั่นเอง
เราวิจัยอะไรและที่ไหนบ้าง
โครงการนี้มุ่งเน้นการวิจัยไปที่พื้นที่การย้ายถิ่นทั้งหมด 5 พื้นที่ ได้แก่ เมียนมาไปไทย เนปาลไปคูเวต เนปาลไปกาตาร์ ฟิลิปปินส์ไปไต้หวัน และเม็กซิโกไปแคนาดา ในพื้นที่เหล่านี้ โครงการได้ศึกษาประเด็นนโยบายของรัฐบาลที่เชื่อมโยงกัน อันประกอบด้วยตัวชี้วัด 44 ตัวที่ส่วนใหญ่ยึดโยงอยู่กับหลักการทั่วไปและแนวปฏิบัติเพื่อการจัดหางานที่เป็นธรรมของ ILO รวมทั้งประเด็นนโยบายบางประเด็น เช่น ความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายงานของแรงงานข้ามชาติและเส้นทางไปสู่การได้สิทธิในการพำนักถาวรและสถานะพลเมือง ซึ่งไม่ได้ถูกพูดถึงในมาตรฐานระหว่างประเทศมากนัก ในแต่ละขั้นตอนการศึกษาและวิเคราะห์นั้น เราพยายามระบุประเด็นร่วมของพื้นที่ต่างๆ ที่ส่งผลกระทบในทางตรงต่อการอพยพย้ายถิ่นฐานของแรงงานเพื่อไปทำงานอย่างเป็นธรรม
เราได้พูดคุยกับใครบ้าง
เราได้ดำเนินการสัมภาษณ์เชิงลึกทั้งหมดกว่า 300 ครั้งสำหรับโครงการนี้ รวมถึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพูดคุยอภิปรายหลายรอบ นอกจากนั้น เรายังได้ทำการวิจัยขั้นทุติยภูมิอย่างละเอียดเพื่อประเมินกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติตามตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง และติดต่อขอข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้าง รวมถึงตังแทนรัฐบาล แรงงานข้ามชาติ ผู้จัดหางานและนายจ้าง ภาคประชาสังคม สหภาพแรงงาน นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเชิงเทคนิค และตัวแทนจาก ILO และ IOM
เราได้ค้นพบอะไรบ้าง
การลงพื้นที่วิจัยอย่างละเอียดตามประเด็นและตัวชี้วัดที่กำหนดได้แสดงให้เห็นว่า ตัวชี้วัดต่างๆ นั้นมีความเชื่อมโยงและทับซ้อนกันมากเพียงใด ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายเกี่ยวกับการจัดหางานที่เข้มแข็งจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อถูกบังคับใช้โดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมและมีทรัพยากรอย่างเพียงพอ ข้อตกลงด้านแรงงานแบบทวิภาคีที่ระบุข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดหางานอย่างเป็นธรรมอย่างละเอียดจะไร้ประสิทธิภาพ หากกฎหมายของประเทศปลายทางละเมิดสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน หรือการห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดหางานจะไม่เป็นผล หากตัวแทนที่ทุจริตสามารถหลบเลี่ยงกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตได้ จากการศึกษาพื้นที่การย้ายถิ่นในแต่ละพื้นที่ เราได้นำเสนอข้อเสนอแนะหลัก 7 ข้อและข้อเสนอแนะย่อยอย่างละเอียดอีก 35 ข้อ ข้อเสนอแนะหลักทั้ง 7 ข้อได้ถูกนำเสนอตามลำดับความสำคัญ โดยเริ่มจากมาตรการที่สำคัญที่สุดก่อนและข้อเสนอสามข้อแรกเป็นข้อเสนอสำหรับรัฐปลายทาง เราได้ประเมินว่า ถึงแม้การพูดคุยเกี่ยวกับการจัดหาแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่มักพุ่งความสนใจไปที่บทบาทของประเทศต้นทาง แต่รัฐปลายทางกลับเป็นผู้ที่มีอิทธิพลหลักในการเอื้อให้เกิดการจัดหางานอย่างเป็นธรรม
We are pleased to publish the Five Corridors Project on fair recruitment today. We are calling on governments that host migrant workers to take more of the strain in preventing abuse. https://t.co/ar8H8Pa8xa pic.twitter.com/ZXm6fxwamO
— FairSquare (@fairsqprojects) July 6, 2021
ที่ปรึกษาและผู้สนับสนุน
โครงการศึกษาการย้ายถิ่นห้าพื้นที่นำโดย FairSquare Projects ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านสิทธิมนุษยชนที่ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน FairSquare Projects ทำการวิจัยและการรณรงค์เพื่อช่วยส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยมีความเชี่ยวชาญในประเด็นสิทธิแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะ
ท่านทูต Luis DeBaca (เกษียณอายุราชการ) เป็นหนึ่งในสองที่ปรึกษาอาวุโสของโครงการ ท่านทูต DeBaca เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเพื่อการติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกาภายใต้รัฐบาลของโอบามาและได้เป็นผู้ประสานงานโครงการต่อต้านแรงงานทาสร่วมสมัยระดับโลก เขาเป็นนักวิจัยที่ Gilder Lehrman Center for the Study of Slavery, Resistance, and Abolition ของศูนย์ MacMillan แห่งมหาวิทยาลัยเยล
Elizabeth Frantz เป็นผู้อำนวยการฝ่าย International Migration Initiative ขององค์กร Open Society Foundations และเป็นที่ปรึกษาอาวุโสอีกคนของโครงการของเรา เธอเป็นผู้นำโครงการด้านงานที่เป็นธรรมให้กับองค์กร ซึ่งสนับสนุนความพยายามในการป้องกันแนวปฏิบัติที่เอารัดเอาเปรียบแรงงานที่กระทบต่อผู้อพยพและผู้ลี้ภัย
เรายังได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของสมาชิกคณะที่ปรึกษาโครงการศึกษาการย้ายถิ่นห้าพื้นที่อีกด้วย ได้แก่
- Marie Apostol ผู้ก่อตั้งและประธาน/ประธานบริหารของ TFHI Inc (The FAIR Hiring Initiative)
- รองศาสตราจารย์ Bassina Farbenblum จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์และ Migrant Worker Justice Initiative
- ศาสตราจารย์ Ray Jureidini ศาสตราจารย์ด้านจริยธรรมและสิทธิมนุษยชนในการย้ายถิ่นฐานที่ศูนย์วิจัย Research Center for Islamic Legislation and Ethics (CILE) แห่งมหาวิทยาลัยฮาหมัดบินคาลิฟา เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์
- ศาสตราจารย์ Sarah Paoletti ผู้อำนวยการก่อตั้งของ Transnational Legal Clinic ภายใต้โรงเรียนกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
- David Schilling จาก Interfaith Centre on Corporate Responsibility (ICCR)
- ดร. Angela Sherwood จากควีนแมรี มหาวิทยาลัยลอนดอน