การจัดการการทุจริตและการละเมิดสิทธิ

บทนี้จะเป็นการวิเคราะห์มาตรการที่รัฐบาลบังคับใช้ในการแก้ประเด็นปัญหาหลักในการจัดหางานที่ “ผิดจริยธรรม” อันได้แก่ การเรียกเก็บค่าธรรมการบริการจัดหางานจากแรงงานข้ามชาติ และการหลอกลวงเกี่ยวกับข้อกำหนดและเงื่อนไขของการจ้างงานในประเทศปลายทาง บทนี้จะศึกษากฎหมายเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในการจัดหางานและการทดแทนสัญญาจ้าง พร้อมดูว่า กฎหมายดังกล่าวถูกนำไปปฏิบัติและบังคับใช้อย่างไร ผลลัพธ์ที่ได้แสดงถึงความเชื่อมโยงและทับซ้อนกับประเด็นที่ทำการศึกษาอื่นๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นที่ 2 และ 5

Fraud and abuse dark

    การห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียม (6.1)

    หลักการทั่วไปและแนวทางปฏิบัติการเพื่อการจัดหางานที่เป็นธรรมของ ILO (ILO GPOG) ยืนยันอย่างชัดเจนว่า “ค่าธรรมเนียมในการจัดหางานหรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จะต้องไม่ถูกเรียกเก็บจากหรือตกเป็นภาระของแรงงานหรือผู้หางาน” ในบทย่อยนี้จะเป็นการศึกษาว่า รัฐบาลมีการห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดหางานและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องจากแรงงานทุกคนอย่างเต็มที่และชัดเจนหรือไม่ (โดยอิงตามคำนิยามของ ILO) กฎหมายครอบคลุมการจ่ายเงินที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากเขตอำนาจของตนหรือไม่ และกฎหมายห้ามดังกล่าวมีการนำไปปฏิบัติจริงหรือไม่ นอกจากนั้น บทย่อยนี้ยังศึกษาว่า แรงงงานต้องจ่ายเงินในการย้ายถิ่นในทางปฏิบัติเท่าใด ใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ และตัวแทนจัดหางานและนายจ้างใช้ช่องว่างใดในการหลีกเลี่ยงกฎหมายห้ามเก็บค่าธรรมเนียมหรือเพดานค่าธรรมเนียมจัดหางาน

    ความโปร่งใสเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการจัดหางาน (6.2)

    แนวทางที่ 6.2 ของ ILO GPOG เสนอแนะว่า “ขอบเขตและลักษณะของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เช่น ต้นทุนที่นายจ้างจ่ายให้ตัวแทนจัดหางาน ควรมีความโปร่งใส่ต่อผู้ที่จ่ายเงินนั้น” แนวทางดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นายจ้างและผู้อื่นตระหนักอย่างเต็มที่ว่า พวกเขาจ่ายเงินนั้นไปเพื่ออะไร เพื่อป้องกันมิให้ต้นทุนในการจัดหางานถูกส่งต่อไปยังแรงงานข้ามชาติ และเพื่อสนับสนุนหน่วยงานกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายในการตรวจสอบ บทย่อยนี้จะเป็นการศึกษาขอบเขตว่า ตัวแทนจัดหางานต้องแสดงความโปร่งใสเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการจัดหางานมากน้อยเพียงใด

    สัญญาจ้าง (6.3)

    แนวทางที่ 7.1 ของ ILO GPOG ได้ระบุมาตรการต่างๆ ที่ถูกออกแบบเพื่อทำให้มั่นใจว่า แรงงานจะได้รับสัญญาจ้างในภาษาของตนเอง ในเวลาที่เหมาะสม และที่บรรจุข้อกำหนดและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน บทย่อยนี้จะเป็นการศึกษาว่า กฎหมายมีข้อกำหนดเกี่ยวกับสัญญาจ้างของแรงงานอย่างไร และบทบัญญัติดังกล่าวถูกนำไปปฏิบัติและบังคับใช้มากน้อยเพียงใด

    การทดแทนสัญญาจ้าง (6.4)

    หลักการที่ 8 ของ ILO GPOG เรียกร้องให้รัฐนำ “มาตรการเพื่อป้องกันการทดแทนสัญญาจ้าง”​ มาปฏิบัติใช้ การทดแทนสัญญาจ้างหมายถึง แนวปฏิบัติในการทดแทนสัญญาจ้างที่ได้รับการตกลงร่วมกันเรียบร้อยแล้วด้วยสัญญาอีกฉบับหนึ่ง ไม่ว่าจะก่อนการย้ายถิ่นฐานหรือหลังจากเดินทางมาถึงประเทศปลายทางแล้วก็ตาม ตัวบ่งชี้ข้อนี้เป็นการศึกษาว่า รัฐมีกระบวนการเฉพาะในการพยายามแก้ปัญหาการทดแทนสัญญาจ้างและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และแรงงานพบว่าข้อกำหนดและเงื่อนไขของงานแตกต่างจากที่ตกลงกันในประเทศต้นทางบ่อยเพียงใด

    สัญญาจ้างทางวาจา (6.5)

    แรงงานบางคนที่ถูกจ้างงานในต่างประเทศไม่เคยได้รับสัญญาจ้างอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการละเมิดที่เพิ่มขึ้นและมักเป็นการลดความสามารถในการเข้าถึงช่องทางเยียวยาที่พวกเขาพึงมี ในบริบทดังกล่าว แนวทางที่ 7.2 ของ ILO GPOG ก็ได้ระบุไว้ว่า “ในกรณีที่ไม่มีสัญญาจ้างอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบในการทำให้มั่นใจว่า แรงงานที่ถูกจ้างจะได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างสอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบที่มีอยู่” บทย่อยนี้จะดูบทบัญญัติที่ให้การคุ้มครองแรงงานที่ไม่ได้รับสัญญาจ้างอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร