ข้อเสนอแนะหลักข้อที่ 6
รัฐต้นทางและปลายทางควรสำรวจความเป็นไปได้ในการดำเนินกิจกรรมจัดหางานด้วยตนเองมากขึ้นอย่างเต็มที่ ในฐานะวิธีในการลดการทุจริตและการละเมิด เช่น ด้วยการประเมินด้านสิทธิมนุษยชน
การมีส่วนร่วมของรัฐบาลทางตรงในฐานะผู้จัดหาแรงงานข้ามชาติ (การจ้างงานระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล หรือ G2G) แทนที่จะเป็นผู้กำกับดูแลกระบวนการจัดหางาน ได้มีปริมาณลดลง ความร่วมมือระหว่างรัฐส่วนใหญ่ในการศึกษานี้อยู่ในรูปแบบ MOU โดยมีภาคเอกชนในแต่ละประเทศเป็นผู้ดำเนินการจัดหางาน ในบางกรณี การที่รัฐทำหน้าที่แทนผู้จัดหางานภาคเอกชนอาจส่งผลดี โดยเฉพาะต่อแนวปฏิบัติในการจัดหางานที่ทุจริตและละเมิดสิทธิ โครงการแบบ G2G ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีระยะเวลาในการดำเนินการนานและไม่สามารถจัดหางานในวงกว้าง ขณะที่ผู้ที่สนับสนุนการจัดหางานในรูปแบบ G2G ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การให้หน่วยงานรัฐบาลทำหน้าที่แทนภาคเอกชนไม่ใช่ยาครอบจักรวาล เพราะมันไม่ช่วยแก้ปัญหาทางโครงสร้างในแผนการย้ายถิ่นฐานแบบชั่วคราวที่อาจนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบและละเมิดสิทธิแรงงานอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็น การขาดความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายงานและการถูกกีดกันจากการคุ้มครองแรงงาน แม้กระนั้นก็ตาม เรายังเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาอย่างเหมาะสมว่า บทบาทของตนในกระบวนการจัดหางานรวมถึงในการทำหน้าที่แทนภาคเอกชนมีความจำเป็น เป็นไปได้ และมีประโยชน์อย่างไร รัฐบาลควร
6.1. หากรัฐมีกลไกในการจัดหางานอยู่แล้ว ให้รัฐดำเนินการประเมินผลอย่างอิสระเพื่อประเมินประสิทธิภาพในการสร้างการจัดหางานที่เป็นธรรมและมีจริยธรรม และเปรียบเทียบประสิทธิภาพในด้านดังกล่าวกับการจัดหางานโดยภาคเอกชน หากการประเมินแสดงผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงาน ให้รัฐพิจารณาขยับขยายกระบวนการดังกล่าวเพื่อให้มีแรงงานและนายจ้างใช้บริการมากขึ้น
6.2. ดำเนินการประเมินด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อดูว่า การพัฒนาโครงการย้ายถิ่นแรงงานระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลใหม่ โดยที่หน่วยงานรัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดหางานเอง จะสามารถลดการทุจริตและการละเมิดสิทธิได้หรือไม่ และนำข้อค้นพบของการประเมินนี้มาพูดคุยในการตกลงด้านการย้ายถิ่นแบบทวิภาคีและการพูดคุยกับสมาคมนายจ้าง