ข้อเสนอแนะหลักข้อที่ 5

รัฐต้นทางและปลายทางควรออกแบบกระบวนการร้องทุกข์และเยียวยาที่คำถึงนึงความไม่สมดุลทางอำนาจระหว่างนายจ้างกับตัวแทนจัดหางานด้านหนึ่ง และกับแรงงานอีกด้านหนึ่ง

กระบวนการในการจัดการกับคำร้องทุกข์ต่อผู้จัดหางานและนายจ้างที่ถูกออกแบบหรือถูกนำไปปฏิบัติอย่างไม่มีประสิทธิภาพเป็นปัญหาในเชิงปฏิบัติสำหรับแรงงานข้ามชาติหลายประการ ซึ่งในหลายกรณีทำให้แรงงานต้องจำยอมรับเงินคืนแบบไม่เต็มจำนวนและรับการชดเชยค่าเสียหายน้อยกว่าที่ควร พลวัตรทางอำนาจระหว่างผู้จัดหางาน/นายจ้างกับแรงงานอาจมีความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมาก ทำให้ทางเลือกในการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาทอาจใช้ไม่ได้จริง สำหรับแรงงาน ความสามารถของนายจ้างในการควบคุมสถานะทางกฎหมายของตนเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอะไรได้ยาก แรงงานทำงานในบ้านที่ทำงานตัวคนเดียวในบ้านของนายจ้างแทบไม่มีทางที่จะยื่นข้อร้องเรียนโดยไม่ลาออกก่อนได้เลย ซึ่งเป็นการเสี่ยงต่อการกลายเป็นแรงงานที่ไม่มีเอกสาร นายจ้างหรือผู้จัดหางานทราบดีว่า หากแรงงานข้ามชาติไม่ยอมรับข้อเสนอในกระบวนการไกล่เกลี่ย แรงงานมักเหลือเพียงทางเลือกในการใช้กระบวนการศาลที่กินเวลานานและยุ่งยาก ซึ่งยิ่งเป็นการลดอำนาจต่อรองของพวกเขาลงไปอีก สำหรับแรงงานข้ามชาติแล้ว นั่นหมายถึงช่วงเวลาที่ขาดรายได้หรือเอกสารตามกฎหมายโดยไม่ทราบว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร

ทั้งรัฐต้นทางและปลายทางต้องออกแบบกระบวนการร้องทุกข์และเยียวยาที่คำนึงถึงและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นจริงของแรงงานข้ามชาติ รัฐต้นทางและปลายทางต้องออกแบบกลไกที่ให้การเยียวยาอย่างเรียบง่ายและรวดเร็ว ในกรณีที่เป็นคดีที่มีความตรงไปตรงมา ในประเทศปลายทาง กลไกร้องทุกข์ควรให้วิธีที่ไม่ยุ่งยากสำหรับแรงงานในการรักษาสถานะทางกฎหมายของตนและสามารถหางานใหม่ในระยะเวลาดำเนินการ นอกจากนั้น รัฐบาลยังควรสำรวจการใช้เทคโนโลยีหากทำได้ เพื่อขจัดอุปสรรคทางภูมิศาสตร์สำหรับแรงงานที่เดินทางกลับประเทศต้นทางไปแล้วในการร้องเรียนนายจ้าง และตั้งสำนักงานในระดับท้องถิ่นเพื่อรับและจัดการคำร้องเรียน แทนที่จะให้แรงงานต้องเดินทางข้ามประเทศเพื่อยื่นข้อร้องเรียนในเมืองหลวง

5.1. จัดให้มีกระบวนการร้องทุกข์ที่ง่ายและชัดเจน และพิจารณานำการดำเนินการแบบเร่งด่วนมาใช้ เพื่อสะท้อนถึงความเปราะบางเป็นพิเศษของแรงงานข้ามชาติต่อความล่าช้าใดๆ และผลกระทบต่อความสามารถของแรงงานข้ามชาติในการติดตามการเยียวยานั้นๆ

5.2. หากรัฐมีกระบวนการไกล่เกลี่ยอยู่แล้ว ให้แต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยที่มีทักษะ ได้รับการฝึกอบรม และเป็นกลาง และรับประกันว่า การบริหารจัดหารหรือการสนับสนุนด้านงบประมาณของกระบวนการไกล่เกลี่ยดังกล่าวไม่มีนายจ้างหรือสมาคมผู้จัดหางานเข้ามาเกี่ยวข้อง

5.3. รับประกันว่า แรงงานข้ามชาติ รวมถึงแรงงานที่ไม่มีเอกสาร มีสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายด้วยงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอในคดีแรงงานกับนายจ้างและผู้จัดหางาน และสามารถเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย

5.4. รับประกันว่า ข้อมูลสถานะของแรงงานข้ามชาติในประเทศปลายทางที่ยื่นข้อร้องทุกข์จะไม่ถูกแบ่งปันให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง

5.5. พัฒนากลไกในการยื่นเรื่องร้องเรียนโดยไม่เปิดเผยตัวตน

5.6. จัดศูนย์พักพิงที่เพียงพอสำหรับให้แรงงานทำงานในบ้าน/ผู้ดูแลที่อาศัยร่วมบ้านกับนายจ้างสามารถเข้ามายื่นเรื่องร้องทุกข์ได้อย่างปลอดภัย

5.7. สำรวจความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีวีดีโอหรือกลไกความร่วมมืออื่นๆ ในการอนุญาตให้แรงงานที่เดินทางกลับประเทศแล้วสามารถเข้าถึงกลไกการร้องทุกข์ทั้งทางศาลและไม่ใช่ทางศาลในประเทศปลายทาง