นโยบายการโยกย้ายถิ่นฐาน

บทนี้จะเป็นการวิเคราะห์วิธีการจัดการการเคลื่อนย้ายเข้าและออกของประชากรในรัฐต้นทางและปลายทางของรัฐบาลในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อไปทำงานในงานที่มีค่าแรงต่ำ ในส่วนของรัฐต้นทาง รายงานจะประเมินว่าการย้ายถิ่นฐานออกจากประเทศถูกจัดเป็นนโยบายที่ถูกให้ความสำคัญหรือไม่ และรัฐบาลส่งเสริมโอกาสการทำงานในประเทศแก่พลเมืองของตนอย่างแข็งขันหรือไม่ อย่างไร สำหรับรัฐปลายทาง รายงานจะพิจารณาปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถานการณ์ของตลาดแรงงาน เช่น ความต้องการแรงงานข้ามชาติของภาคธุรกิจ กับนโยบายการเข้าเมืองที่เข้มงวด ซึ่งถูกออกมาเพื่อปกป้องงานสำหรับคนในประเทศ ให้อำนาจในการควบคุมแก่นายจ้าง และ/หรือขจัดความกังวลของประชากรเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรในประเทศ นอกจากนั้น รายงานยังศึกษาขอบเขตว่า รัฐมีการกำกับดูแลกระบวนการโยกย้ายถิ่นฐานมากน้อยเพียงใด และรัฐมีการบรรจุมิติด้านเพศในการนโยบายที่เกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด สุดท้าย เป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานและการจ้างงานเป็นการให้แนวทางสำหรับการออกและบังคับใช้นโยบายการโยกย้ายถิ่นฐานระดับประเทศอย่างจำกัดเท่านั้น เนื่องจากทั้งสององค์กรมองว่าเป็นสิทธิของรัฐบาลแต่ละประเทศ

Migration policy dark

    ความสอดคล้องของนโยบาย (1.1)

    ตามแนวทางที่ 10.1 ของหลักการทั่วไปและแนวทางปฏิบัติการเพื่อการจัดหางานที่เป็นธรรมของ ILO (ILO General Principles and Operational Guidelines on Fair Recruitment: ILO GPOG) รัฐบาลควร “พยายามประเมินความต้องการของตลาดและทำให้เกิดความสอดคล้องกันระหว่างนโยบายการจัดหาแรงงาน นโยบายการโยกย้ายถิ่นฐาน นโยบายการจ้างงาน และนโยบายระดับชาติอื่นๆ โดยตระหนักถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างจากการจ้างแรงงานและการโยกย้ายถิ่นฐาน และเพื่อส่งเสริมให้เกิดงานที่ดีสำหรับทุกคน” แรงงานข้ามชาติอาจประสบปัญหาจากความไม่ต่อเนื่องกันของนโยบายอพยพเข้าเมืองและสถานการณ์ความเป็นจริงของตลาดแรงงาน รัฐต้นทางมักมองการโยกย้ายถิ่นฐานขนาดใหญ่ในฐานะวิธีการพัฒนาเศรษฐกิจและหนทางในการบรรเทาภาวะขาดแคลนโอกาสในการจ้างงานในเศรษฐกิจประเทศของตน สำหรับรัฐต้นทางแล้ว บทย่อยนี้เป็นการศึกษาว่า รัฐบาลมีการสนับสนุนและส่งเสริมพลเมืองให้โยกย้ายถิ่นฐานเพื่อไปหางานในต่างประเทศเป็นเป้าหมายหลักหรือไม่ อย่างไร และการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการทำงานในต่างประเทศส่งผลต่อการคุ้มครองแรงงานมากน้อยเพียงใด ส่วนรัฐปลายทาง บทย่อยนี้จะศึกษาความขัดแย้งระหว่างความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งมีภาวะขาดแคลนอย่างรุนแรงในภาคของเศรษฐกิจสำคัญ กับความกังวลใจของประชาชนเกี่ยวกับอัตราการอพยพเข้าประเทศของแรงงานข้ามชาติและการเปลี่ยนแปลงทางประชากร ซึ่งบางครั้งถูกโหมกระพือโดยพรรคการเมือง

    ข้อจำกัดของการโยกย้ายถิ่นฐาน (1.2)

    รัฐต้นทางบางประเทศมีการห้ามแรงงานข้ามชาติไม่ให้ทำงานบางประเภทในรัฐปลายทางบางประเทศ และในหลายๆ กรณี การห้ามดังกล่าวถูกอ้างว่าเป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงาน บทย่อยนี้จะศึกษาว่า รัฐมีการบังคับใช้ข้อห้ามดังกล่าวจริงหรือไม่ และการกระทำดังกล่าวส่งเสริมหรือจำกัดสิทธิของแรงงานข้ามชาติอย่างไร

    การจ้างงานระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล (Government-to-Government (G2G)) (1.3)

    Eการจ้างแรงงานข้ามชาติส่วนมากกระทำโดยภาคเอกชน โดยรัฐบาลมักมีบทบาทที่จำกัดในการกำกับดูแลกระบวนการจัดหางานและวิธีปฏิบัติในการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบางประเทศปรับรับบทบาทในเชิงรุกมากขึ้นและเลือกใช้กระบวนการที่เรียกว่า การจ้างงานระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือ Government-to-Government (G2G) รูปแบบการจ้างงานแบบ G2G มีความหลากหลาย แต่โดยรวมแล้วมักหมายถึง การที่ขั้นตอนการจ้างงานหลักส่วนใหญ่หรือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรอง การคัดเลือก และการจับคู่แรงงานที่สมัครเข้ามากับนายจ้าง ถูกดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐบาลแทนที่ภาคเอกชน ผ่านกระบวนการที่ตกลงร่วมกันในกลไกแบบทวิภาคี บทย่อยนี้จะดูว่า รัฐบาลในงานศึกษานี้มีส่วนเกี่ยวข้องและมีความจริงจังต่อกระบวนการ G2G มากน้อยเพียงใด และการมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดหางานของรัฐบาลมีผลที่เป็นรูปธรรมต่อแรงงานหรือไม่

    เพศ (1.4)

    รัฐมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อทำให้มั่นใจว่าแรงงานข้ามชาติจะไม่ต้องเผชิญการเลือกปฏิบัติในการเข้าถึงงานเนื่องจากเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศของตน และจะได้รับการคุ้มครองจากความเสี่ยงใดๆ ที่อาจเกิดจากเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศของตน ปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมมติฐานว่า เพศใดสามารถหรือควรทำงานในภาคเศรษฐกิจใด ความคาดหวังทางประเพณีต่อบทบาทของผู้ชายและผู้หญิงในครอบครัวในประเทศต้นทาง และข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้หญิงในวงจรการโยกย้ายถิ่นฐานล้วนมีอิทธิพลต่อความเปราะบางและความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดของแรงงานข้ามชาติได้ บทย่อยนี้จะวิเคราะห์ขอบเขตการพิจารณาปัจจัยด้านเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศของรัฐบาลในนโยบายด้านการโยกย้ายถิ่นฐานของตน

    กระบวนการขอเอกสารเดินทาง (1.5)

    กระบวนการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอาจมีความสลับซับซ้อนสูง นั่นหมายความว่า แรงงานมักต้องพึ่งตัวกลางเพื่อช่วยเหลือในการอพยพไปทำงาน และแรงงานถูกลดทอนอำนาจในการดำเนินการด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้ตัวกลางในการแสวงหากำไรจากแรงงาน กระบวนการที่มีความสลับซับซ้อนเหล่านี้ยังอาจส่งผลให้ช่องทางการย้ายถิ่นฐานอย่างเป็นทางการเป็นตัวเลือกที่น่าดึงดูดน้อยกว่าช่องทางที่ไม่เป็นทางการ อันได้แก่การโยกย้ายถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมาย นายจ้างในประเทศปลายทางที่ต้องการหลีกเลี่ยงกระบวนการจัดหาแรงงานต่างชาติของรัฐบาลที่กินเวลานานมักไปจ้างตัวแทนจัดหางานที่อาจไม่ได้มาตรฐานเสมอไป บทย่อยนี้จะศึกษาขอบเขตว่า ข้อกำหนดทางกฎหมายที่มีความซับซ้อนเหล่านี้ ซึ่งบางครั้งถูกออกแบบเพื่อคุ้มครองแรงงาน มีผลที่เป็นรูปธรรมต่อสถานการณ์แรงงานข้ามชาติอย่างไร

    ความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายงาน (1.6)

    ในสองสามทศวรรษที่ผ่านมา การโยกย้ายถิ่นฐานแบบชั่วคราวหรือแบบวงจร ซึ่งหมายถึงรูปแบบการย้ายถิ่นที่แรงงานเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดหลังจากหมดสัญญา ได้กลายเป็นรูปแบบการย้ายถิ่นของแรงงานที่พบเจอได้บ่อยที่สุด โครงการการย้ายถิ่นฐานชั่วคราวมักผูกมัดแรงงานเข้ากับนายจ้างรายเดียวในระยะเวลาที่เอกสารเดินทาง (วีซ่า) กำหนด นโยบายดังกล่าวจำกัดความยืดหยุ่นของแรงงานข้ามชาติในการเปลี่ยนงานและเชื่อมโยงกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศ บทย่อยนี้จะเป็นการศึกษาว่า กฎหมายอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้หรือไม่ หากได้ แรงงานมีความยากง่ายในการปฏิบัติอย่างไร และความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายงานนั้นส่งผลในเชิงบวกหรือลบต่อแรงงานข้ามชาติอย่างไร

    หนทางสู่การขอถิ่นที่อยู่ถาวรและการขอสัญชาติ (1.7)

    บางประเทศให้โอกาสแรงงานข้ามชาติในการขอถิ่นที่อยู่ถาวรและ/หรือสัญชาติหลังการทำงานเป็นเวลาที่กำหนด หรือในฐานะหนึ่งในเงื่อนไขที่สำคัญของการจ้างงานตั้งแต่ต้น บทย่อยนี้ศึกษาว่า หนทางในการได้สัญชาตินี้ (หากมี) มีผลในเชิงบวกต่อสถานการณ์แรงงานข้ามชาติอย่างไร