การร้องทุกข์และการเยียวยา

เมื่อมีการละเมิดเกิดขึ้น ทั้งประเทศต้นทางและปลายทางจะต้องจัดให้มีกลไกร้องทุกข์ที่มีประสิทธิภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ รัฐบาลจะต้องจัดให้มีกลไกร้องทุกข์และเยียวยาในช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือจากสถานกงสุลของประเทศต้นทาง สายด่วนของกระทรวงแรงงาน กระบวนการไกล่เกลี่ย และศาลแพ่งที่มีความเชี่ยวชาญในคดีแรงงานและการจ้างงานโดยเฉพาะ ในบทนี้จะเป็นการวิเคราะห์ความสอดคล้องของกลไกดังกล่าวเหล่านี้กับมาตรฐานระหว่างประเทศเกี่ยวกับกลไกร้องทุกข์และสิทธิในการเยียวยาที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

Grievance and remedy dark

    การเข้าถึงอย่างครอบคลุม (7.1)

    บทย่อยนี้จะเป็นการศึกษาขอบเขตของการเข้าถึงกลไกร้องทุกข์ที่มี ในบางบริบท การเข้าถึงกลไกร้องทุกข์ของแรงงานจะขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมที่แรงงานนั้นทำงานอยู่ ยกตัวอย่างเช่น แรงงานทำงานในบ้านในบางประเทศไม่สามารถเข้าถึงช่องทางในการร้องทุกข์ของรัฐได้ นอกเหนือจากการแจ้งความกับตำรวจ แรงงานที่ไม่มีเอกสารก็มักถูกกีดกันออกจากการยื่นข้อร้องเรียนโดยสิ้นเชิง บทย่อยนี้จะศึกษาขอบเขตว่า การเข้าถึงกลไกร้องทุกข์ของแรงงานสอดกล้องกับแนวทางที่ 8 ของหลักการทั่วไปและแนวทางปฏิบัติการเพื่อการจัดหางานที่เป็นธรรมของ ILO (ILO GPOG) หรือไม่ อย่างไร ซึ่งแนวทางดังกล่าวระบุว่า แรงงานต้องสามารถเข้าถึงกลไกเหล่านั้นได้ “โดยไม่คำนึงถึงการต้องแสดงตนหรือสถานะทางกฎหมายของพวกเขาในประเทศนั้นๆ”

    ความสามารถในการเข้าถึง (7.2)

    บทย่อยนี้เป็นการศึกษาว่า แรงงานสามารถเข้าถึงกลไกและกระบวนการร้องทุกข์ในทางปฏิบัติได้หรือไม่ และกลไกดังกล่าวมีความรวดเร็วและปราศจากขั้นตอนทางราชการที่ซับซ้อนหรือไม่ โดยสอดคล้องกับแนวทางที่ 8.1 ของ ILO GPOG

    การเยียวยาและการชดเชย (7.3)

    แรงงานที่เผชิญการละเมิดในวงจรการย้ายถิ่นควรสามารถเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการชดเชยตามแนวทางที่ 8.1 ของ ILO GPOG ประเทศปลายทางบางประเทศจัดการเรื่องร้องทุกข์โดยอนุญาตให้แรงงานสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ นอกจากนั้น การเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้กระทำความผิดโดยใช้การกระบวนการทางอาญาก็อาจจะนำไปสู่การเยียวยาในบางกรณีได้เช่นเดียวกัน บทย่อยนี้เป็นการศึกษาบทบัญญัติของรัฐเกี่ยวกับการเยียวยา โดยเฉพาะการชดเชยความเสียหาย

    การคุ้มครองจากการถูกโต้กลับ (7.4)

    ตามแนวทางที่ 8.1 ของ ILO GPOG แรงงานที่ยื่นข้อร้องทุกข์ควรจะได้รับความคุ้มครองจากการถูกโต้กลับ โดยเฉพาะจากนายจ้างและตัวแทนจัดหางาน บทย่อยนี้จะประเมินว่า แรงงานรู้สึกปลอดภัยในการยื่นข้อร้องเรียนเพียงใด และมาตรการที่ประกาศใช้ในการป้องกันพวกเขาจากการโต้กลับมีประสิทธิภาพมากเพียงใด

    การให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย (7.5)

    การจัดให้มีการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายที่เป็นอิสระส่งผลอย่างมากต่อการตัดสินใจของแรงงานว่าจะใช้ตัวเลือกที่มีอยู่ใดในการยื่นข้อร้องเรียนของตนให้ประสบความสำเร็จ บทย่อยนี้จะดูการให้คำปรึกษาที่ถูกจัดให้แก่แรงงาน

    ความช่วยเหลือทางกงสุล (7.6)

    บทย่อยนี้จะศึกษาว่า ประเทศต้นทางได้ให้การสนับสนุนทางกงสุลอย่างมีประสิทธิภาพและในเวลาที่เหมาะสมสำหรับพลเมืองของตนในต่างประเทศที่ประสบปัญหาการจ้างงานที่ทุจริตหรือละเมิดสิทธิหรือไม่