การจัดการแบบทวิภาคี

รัฐต้นทางและปลายทางมักใช้กระบวนการทางการในการจัดการประเด็นแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ไม่มีผลผูกมัดหรือข้อตกลงด้านแรงงานแบบทวิภาคีที่มีผลผูกมัด การจัดการเหล่านี้ในหลายกรณีเป็นเพียงเอกสารพื้นฐานที่ให้กรอบข้อตกลงคร่าวๆ สำหรับภาคเอกชนในการจ้างแรงงานในภูมิภาคเท่านั้น ซึ่งในกรณีดังกล่าว เอกสารเหล่านี้ไม่สามารถส่งผลต่อแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนในกรณีอื่นๆ กลไกแบบทวิภาคีเป็นการสร้างพื้นฐานสำหรับการจ้างงานระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือบรรจุกลไกเฉพาะอื่นๆ ที่ระบุข้อกำหนดและเงื่อนไขการจ้างงานสำหรับแรงงานข้ามชาติ ในบทนี้จะเป็นการศึกษาว่า รัฐบาลของแต่ละประเทศในงานศึกษาชิ้นนี้ใช้การจัดการแบบทวิภาคีอย่างไร การจัดการเหล่านั้นสอดคล้องกับหลักการการจ้างงานอย่างเป็นธรรมหรือไม่ และการจัดการดังกล่าวให้ความคุ้มครองต่อแรงงานในวงจรการจ้างงานมากน้อยเพียงใด

Bilateral arrangements dark

    การเข้าถึง (3.1)

    บทย่อยนี้เป็นศึกษาความสามารถในการเข้าถึงข้อตกลงด้านแรงงานแบบทวิภาคี แนวทางที่ 13.1 ของหลักการทั่วไปและแนวทางปฏิบัติการเพื่อการจัดหางานที่เป็นธรรมของ ILO (ILO GPOG) ระบุว่า การตกลงแบบทวิภาคีนี้ “ควรเปิดเผยต่อสาธารณะ และแรงงานข้ามชาติควรรับทราบข้อกำหนดต่างๆ ภายใต้การตกลงเหล่านั้น” MOU เกี่ยวกับการย้ายถิ่นของแรงงานหลายฉบับไม่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งทำให้แรงงานและองค์กรที่ทำงานเป็นตัวแทนและสนับสนุนแรงงานไม่สามารถใช้ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดหางานที่เป็นธรรมได้โดยง่าย

    การจัดหางานที่เป็นธรรมในการเจรจา (3.2)

    การเจรจาต่างๆ มักจะให้ความสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายประชากรอย่างเป็นระบบมากกว่าความปลอดภัยและการคุ้มครองบุคคลเหล่านั้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวบ่อยครั้งสะท้อนถึงลำดับความสำคัญทางการเมืองทั้งในประเทศต้นทางและปลายทางที่ต้องการสนับสนุนการอพยพย้ายถิ่นเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก บทย่อยนี้เป็นการศึกษาว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการจัดหางานอย่างเป็นธรรมในการเจรจาและการร่างข้อตกลงแบบทวิภาคีมากน้อยเพียงใด

    มาตรฐานระหว่างประเทศ (3.3)

    ข้อตกลงแบบทวิภาคีควรบรรจุหรือมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและแรงงานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งตรงกับแนวทางที่ 13 ของ ILO GPOG ในหลายกรณี ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิแรงงานมักไม่ถูกพูดถึง บทย่อยนี้เป็นการศึกษาความสอดคล้องของข้อตกลงด้านแรงงานแบบทวิภาคีของแต่ละรัฐบาลกับแนวทางของหลักการดังกล่าว

    กลไกในข้อตกลง (3.4)

    บทย่อยนี้ศึกษาว่า ข้อตกลงแบบทวิภาคีบรรจุกลไกเกี่ยวกับการจัดหางานอย่างเป็นธรรมโดยเฉพาะหรือไม่ (ตรงกับแนวทางที่ 13.1 ของ ILO GPOG) กลไกดังกล่าวอาจรวมถึงการคุ้มครองทางกงสุล การทำงานร่วมกันในการบังคับใช้ และการประสานงานเพื่ออุดช่องว่างทางกฎหมาย

    การนำไปปฏิบัติและการควบคุมดูแล (3.5)

    ข้อตกลงด้านแรงงานแบบทวิภาคีหลายฉบับขาดมาตรการต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่าจะเกิดการนำไปปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ บทย่อยนี้เป็นการศึกษาว่า การจัดการแบบทวิภาคีมีมาตรการในการบังคับใช้และการทบทวนที่มีประสิทธิภาพควบคู่กันหรือไม่ รวมถึงกลไกในการควบคุมดูแลที่โปร่งใส โดยทำงานร่วมกับองค์กรนายจ้างและแรงงาน