หน่วยงานที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงาน

การวิเคราะห์ในส่วนนี้เป็นการพยายามทำความเข้าใจขอบเขตว่า รัฐบาลได้ปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายกำกับการจ้างแรงงานข้ามชาติมากน้อยเพียงใด โดยศึกษาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ ประสิทธิภาพของการตรวจแรงงาน (เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานมีจำนวนและทักษะที่เหมาะสมหรือไม่ และได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบการทุจริตหรือละเมิดสิทธิในการจ้างงานอย่างเพียงพอหรือไม่) ประสิทธิภาพของระบบยุติธรรมในการจัดการกับการละเมิดสิทธิขั้นรุนแรงในกระบวนการจัดหางาน และมาตรการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันของรัฐ

Implementing bodies dark

    ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ (5.1)

    แนวทางที่ 9.1 ของหลักการทั่วไปและแนวทางปฏิบัติการเพื่อการจัดหางานที่เป็นธรรมของ ILO (ILO GPOG) เสนอแนะให้รัฐ “ทำให้มั่นใจว่า กระทรวง กรม หน่วยงาน และสถาบันอื่นๆ ของรัฐที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการจัดหางานและการดำเนินธุรกิจจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด” ในรัฐต้นทาง การดำเนินการดังกล่าวมักจำเป็นต้องมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงแรงงานและกระทรวงการต่างประเทศ ขณะที่ในประเทศปลายทาง อำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลให้เกิดการจ้างงานที่เป็นธรรมมักตกเป็นของกระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทย นอกจากนั้น การบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานด้านความยุติธรรมทั้งในรัฐต้นทางและปลายทางก็ควรมีบทบาทด้วย เพื่อให้การเข้าถึงความยุติธรรมและการดำเนินคดีทางอาญาในกรณีที่จำเป็น บางประเทศยังมีการแบ่งความรับผิดชอบระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลส่วนภูมิภาคอย่างชัดเจน บทย่อยนี้เป็นการสำรวจผลกระทบของรูปแบบความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐที่สำคัญในแต่ละพื้นที่ที่มีการโยกยายถิ่นฐาน

    การตรวจแรงงานที่มีประสิทธิภาพ (5.2)

    ผู้ตรวจแรงงานมักละเลยประเด็นเกี่ยวกับการจัดหางาน โดยเน้นให้ความสนใจประเด็นการจ้างงานมากกว่า แนวทางที่ 5.1 ของ ILO GPOG มุ่งหวังให้รัฐจัดให้ “การตรวจแรงงานมีประสิทธิภาพและมีทรัพยากรที่เพียงพอ [ซึ่ง] ได้รับการส่งเสริมศักยภาพและฝึกอบรมเพื่อตรวจสอบและแทรกแซงกระบวนการจัดหางานในทุกขั้นตอนสำหรับแรงงานทุกคนและผู้ประกอบการทุกราย และเพื่อตรวจตราและประเมินการทำงานของตัวแทนจัดหางานทุกบริษัท” บทย่อยนี้เป็นการศึกษาว่า การตรวจแรงงานในรัฐต้นทางและปลายทางมีส่วนช่วยกำกับดูแลพฤติกรรมของฝ่ายต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหางานข้ามพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด เช่น โดยการใช้มาตรการลงโทษทางปกครองหรือการดำเนินคดีอาญา

    หน่วยงานที่ดำเนินการสืบสวนอาชญากรรม (5.3)

    แนวทางที่ 2.1 ของ ILO GPOG กล่าวว่า รัฐบาลควร “สืบสวน [และ] ลงโทษ ... การละเมิดสิทธิ [โดยตัวแทนจัดหางานและผู้ประกอบการทุกประเภท รวมถึงนายจ้างและตัวแทนจัดหางานเอกชน]” บทย่อยนี้จะเป็นการดูว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบในการสืบสวนและดำเนินคดีอาญาได้รับการอบรมทักษะและได้รับการจัดสรรทรัพยากรในการสืบสวนและดำเนินคดีการทุจริตและละเมิดสิทธิในการจัดหางานหรือไม่ การดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นปกติในทางปฏิบัติหรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการปกป้องการละเมิด ซึ่งนำไปสู่ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่สูงขึ้นหรือไม่

    มาตรการการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน (5.4)

    บทย่อยนี้จะศึกษาว่า รัฐบาลมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาการทุจริตภายในหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดหางานข้ามพรมแดนหรือไม่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ รวมถึงการทุจริตโดยตัวแทนจัดหางานและนายจ้าง