เมียนมาร์ ไทย

เมียนมาร์ - ไทย: นโยบายการโยกย้ายถิ่นฐานระดับชาติ

เศรษฐกิจของทั้งประเทศไทยและเมียนมาต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านแรงงานและการส่งเงินกลับบ้านตามลำดับ แต่นโยบายการโยกย้ายถิ่นฐานระดับชาติในระยะยาวและสิทธิของแรงงานข้ามชาติกลับไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญในทั้งสองประเทศ แรงงานชาวเมียนมาจำนวนอย่างน้อยสามล้านคนทำงานในประเทศไทย ซึ่งมีการประเมินว่าอาจมีถึงห้าล้านคน ขณะที่ตัวเลขทางการของทั้งสองรัฐบาลต่ำกว่านั้น เจ้าหน้าที่รัฐเมียนมาส่วนใหญ่มองการอพยพย้ายถิ่นเพื่อไปทำงานนอกประเทศในฐานะวิธีในการช่วยประเทศบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งชาติ ลดความยากจน และบรรเทาความตึงเครียดจากตลาดแรงงานในประเทศ ส่วนในประเทศไทยที่เศรษฐกิจกำลังเจริญเติบโตที่แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้านและเป็นแรงงานแบบไม่ปกติ/ผิดกฎหมาย คนไทยใช้วิธี “อดทนอดกลั้นในทางปฏิบัติ” ต่อแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ท่ามกลางความรู้สึกเหยียดเชื้อชาติซึ่งเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์ จุดมุ่งหมายของรัฐบาลไทยยังคงเป็นการควบคุมการย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติโดยใช้นโยบายไม้แข็ง-ไม้อ่อน ซึ่งได้แก่ การทำให้ถูกกฎหมายและการส่งกลับประเทศ อย่างไรก็ตาม การควบคุมการหลั่งไหลของแรงงานจากประเทศเมียนมาเป็นสิ่งยากลำบาก เนื่องจากทั้งสองประเทศมีพรมแดนที่ยาวและมีรูพรุน ซึ่งเอื้อให้เกิดการย้ายถิ่นฐานโดยง่ายภายใต้การทำงานของระบบนายหน้าและการติดสินบนโดยรวม

เนื่องจากได้เล็งเห็นว่าการโยกย้ายถิ่นฐานเป็นสภาพความเป็นจริงระยะยาว ทั้งสองประเทศจึงได้ต่างพยายามพัฒนานโยบายการโยกย้ายถิ่นฐานและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กรอบกฎหมายและข้อบังคับที่ไม่มีประสิทธิภาพของตน โดยทำงานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวยังคงเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น เนื่องจากขาดความต่อเนื่องและความชัดเจน รวมทั้งการบังคับใช้ที่ไม่สม่ำเสมอในภาพรวม ในหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความพยายามครั้งใหม่ ซึ่งนำโดยประเทศไทย ในการจัดหาแรงงานผ่านข้อตกลง MOU ปี 2559 บ่อยครั้งแม้ว่ากระบวนการดังกล่าวถูกนำเสนอในฐานะกระบวนการระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล แต่ส่วนใหญ่แล้วมันเป็นกรอบการทำงานในระบบราชการแบบครอบคลุมสำหรับตัวแทนจัดหางานในภาคเอกชนเพื่อหาแรงงานที่เหมาะสมสำหรับงานต่าง ๆ นอกจากนั้น เนื่องจากกองทัพของทั้งสองประเทศมีบทบาทโดดเด่นในการปกครองประเทศ การพูดคุยถกเถียงเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานจึงมักถูกครอบงำโดยข้อกังวลและองค์กรด้านมั่นคง ข้อเท็จจริงดังกล่าวสะท้อนอยู่ในกระบวนการย้ายถิ่น/การขอวีซ่าของทั้งสองประเทศ ในประเทศไทย แรงงานข้ามชาติมีความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายงานจำกัดและไม่มีช่องทางในการขอสัญชาติเลยในทางปฏิบัติ ทั้งสองประเทศยังวางอุปสรรคต่าง ๆ ต่อการย้ายถิ่น ประเทศไทยอนุญาตให้แรงงานไร้ฝีมือเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา กัมพูชา และสปป.ลาว) และเวียดนามเท่านั้นเพื่อจำกัดจำนวน ส่วนประเทศเมียนมาอนุญาตให้แรงงานอพยพไปยังเพียงบางประเทศเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และตะวันออกกลาง แม้ว่าจะมีการย้ายถิ่นอย่างไม่ปกติจำนวนมากไปยังประเทศจีนด้วย ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยและมักถูกมองข้าม ข้อห้ามในการไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเมียนมาเดินทางไปทำงานในบ้านที่ประเทศสิงคโปร์และฮ่องกงก่อนหน้านี้เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยปัจจุบันถูกยกเลิกแล้ว

ข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลไทย

  • ขจัดอุปสรรคทางกฎหมายและขั้นตอนทางราชการในการให้แรงงานเปลี่ยนนายจ้างก่อนสิ้นสุดสัญญา รวมถึงข้อกำหนดในการคืนค่าธรรมเนียมแก่นายจ้างเก่าภายใต้เงื่อนไขอนุญาตทั้ง 5 ข้อที่กระทรวงแรงงานระบุในปัจจุบัน

  • ดำเนินการทบทวนนโยบายด้านการโยกย้ายถิ่นฐานของประเทศในประเด็นเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติอย่างเป็นทางการและอิสระ การทบทวนดังกล่าวควรรวบรวมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย และควรพูดถึงประเด็นความละเอียดอ่อนทางเพศ ผลกระทบจากความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายงานของแรงงานต่างชาติ ความซับซ้อนของกระบวนการจ้างงานผ่าน MOU และศักยภาพและความเป็นไปได้ของนำรูปแบบการจัดหางานระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลโดยใช้หลักการ “นายจ้างเป็นผู้จ่าย” มาปฏิบัติ