เมียนมาร์ ไทย

เมียนมาร์ - ไทย: ข้อตกลงแบบทวิภาคี

ประเทศไทยเป็นผู้ผลักดันการทำ MOU แบบทวิภาคีในด้านการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างเต็มที่ และได้ลงนามใน MOU เกี่ยวกับความร่วมมือด้านแรงงานกับประเทศเวียดนามและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ประเทศเมียนมายังได้ทำ MOU เกี่ยวกับการจ้างงานระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลกับประเทศเกาหลีใต้ และบันทึกความเข้าใจ/ข้อตกลงกับประเทศญี่ปุ่นและมาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลเมียนมาไม่ได้เปิดเผยเอกสารเหล่านี้ต่อสาธารณะ เช่นเดียวกับเอกสารทางราชการอื่น ๆ ของประเทศที่ถูกเก็บเป็นความลับ ส่วน MOU และข้อตกลงความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างประเทศเมียนมาและไทยที่ทำขึ้นในปี 2559 ซึ่งแทนที่ MOU ปี 2546 ก่อนหน้านี้ได้รับการเผยแพร่โดยรัฐบาลไทย เช่นเดียวกับเอกสารอื่น ๆ ทุกฉบับที่ประเทศไทยลงนาม อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 ได้มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับการจ้างแรงงานในภาคประมงระหว่างสองประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนต่อเนื่องตาม MOU แต่เอกสารฉบับนี้กลับไม่ถูกเปิดเผยโดยรัฐบาลไทย (และเมียนมา) ไม่มีผู้ใดทราบเนื้อหาที่แท้จริงของการตกลงดังกล่าว รวมถึงสหภาพแรงงานและองค์กรภาคประชาสังคม

การเจรจา MOU ระหว่างประเทศเมียนมาและไทยขาดความโปร่งใส มีการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างจำกัด และขาดการทำงานร่วมกับกลุ่มแรงงานและสหภาพแรงงานในแต่ละประเทศ ตัวแทนจัดหางานเอกชน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการจัดหางานผ่าน MOU รวมถึงนายจ้างในไทยกลับมีบทบาทในกระบวนการสูงกว่า ข้อกังวลและองค์กรเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศเป็นผู้นำการเจรจา ทำให้ข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนมีแนวโน้มที่จะไม่ถูกเน้นย้ำอย่างละเอียดในการเจรจา MOU ปี 2559 อย่างไรก็ตาม มีการรายงานว่า รัฐบาลเมียนมาได้พยายามผลักดันข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในข้อตกลงแรงงานประมงปี 2561 อย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จในการบรรจุประเด็นการคุ้มครองแรงงานที่เข้มข้นขึ้น ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า ความสนใจของประชาคมโลกต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมงและภาวะการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงในประเทศไทยส่งผลให้ผลลัพธ์ออกมาเช่นนี้อย่างไร

แม้เราไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาในข้อตกลงแรงงานประมงปี 2561 ได้ก็จริง แต่ MOU และข้อตกลงปี 2559 ระหว่างประเทศเมียนมาและไทยก็กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนอย่างผิวเผิน นอกจากส่วนที่เกี่ยวข้องกับการไม่เลือกปฏิบัติ เอกสารดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติหรือกลไกโดยเฉพาะใด ๆ เกี่ยวกับการบังคับใช้และการคุ้มครองทางกงสุล (ซึ่งมีอยู่ในทางปฏิบัติ) เนื่องจากประเทศไทยมุ่งความสนใจไปยังเรื่องการย้ายถิ่นอย่างไม่ปกติเป็นสำคัญ ประเด็นหลัก ๆ จึงเกี่ยวกับกระบวนการเข้ามายังราชอาณาจักรไทย การป้องกันการย้ายถิ่นและการจ้างงานอย่างไม่ปกติ และการส่งแรงงานข้ามชาติกลับประเทศ โดยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานและการคุ้มครองชาวต่างชาติ ข้อตกลงมีการพูดถึงการประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐอย่างครอบคลุม ซึ่งเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ (และมีตัวแทนจากหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เข้าร่วม) ข้อตกลงนี้ (และกระบวนการโยกย้ายถิ่นฐานโดยรวม) ไม่มีการตรวจสอบโดยรัฐสภาหรือหน่วยงานอื่นในทั้งสองประเทศ การปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจาและการไม่ปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องส่งผลให้สิทธิแรงงานเป็นประเด็นชายขอบ ซึ่งสร้างความกังวลว่า MOU จะกลายเป็นเพียงกรอบการทำงานของราชการที่ช่วยให้รัฐจัดการกับการย้ายถิ่นง่ายขึ้นเท่านั้น และมีผลประโยชน์ทางการค้าเป็นปัจจัยสนับสนุนอีกที

ข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลไทย

  • รับประกันว่า ข้อตกลงแบบทวิภาคีของประเทศไทยกับประเทศที่ส่งออกแรงงานได้รวมข้อตกลงที่มีผลผูกมัด ซึ่งกำหนดให้ทั้งสองประเทศคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานของแรงงานตลอดระยะเวลาในการจัดหางาน การจ้างงาน และการเดินทางกลับ ภาคประชาสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญกลุ่มอื่นๆ จากทั้งสองประเทศควรมีส่วนร่วมในการร่างข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งควรผูกมัดทั้งสองประเทศอย่างชัดเจนในการบังคับใช้หลักการ “นายจ้างเป็นผู้จ่าย” ค่าธรรมเนียมในการจัดหางาน และควรรวมถึงการตรวจสอบดูแลและกลไกแก้ไขข้อพิพาทที่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ รวมถึง องค์กรแรงงาน มีส่วนร่วม