เมียนมาร์ ไทย

เมียนมาร์ - ไทย: การเข้าถึงกลไกการร้องทุกข์และการเยียวยาในกรณีข้อพิพาท

ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ต้องการการเยียวยาในภูมิภาคนี้ คือ การได้รับเงินค้างชำระหรือค่าธรรมเนียมของรัฐคืน การได้เงินชดเชยนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักและผู้กระทำผิดแทบไม่โดนลงโทษ ระบบการจัดการเรื่องร้องทุกข์ในประเทศเมียนมาส่วนใหญ่ทำงานผ่านการไกล่เกลี่ย/เจรจาเพื่อ “แก้” ปัญหา กระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากรมอบหมายความรับผิดชอบโดยรวมแก่ตัวแทนจัดหางานในการแก้ปัญหาที่แรงงานเผชิญ รวมถึงปัญหาในประเทศไทย การร้องเรียนของแรงงานภายในประเทศเมียนมาปกติแล้วจะยื่นผ่านกลุ่มภาคประชาสังคมหรือสมาคมแรงงาน และมีจำนวนประมาณ 100 กรณีต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยเมื่อพิจารณาการละเมิดที่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดหางานอย่างกว้างขวาง ช่องทางสำหรับการยื่นข้อร้องเรียนมีมากมาย แต่กรณีที่เกี่ยวกับตัวแทนจัดหางานส่วนใหญ่มักถูกแก้ไขโดย MOEAF หรือกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากร และแทบไม่มีคดีใดไปถึงชั้นศาล ข้อร้องเรียนต่อนายหน้ามักถูกจัดการโดยตำรวจ อย่างไรก็ตาม หากแคดีไปถึงชั้นศาล ทั้งอัยการและผู้พิพากษาก็มักไม่ให้ความสำคัญกับคดีเหล่านั้น และการตัดสินลงโทษก็แทบไม่เกิดขึ้นหรือไม่เพียงพอ กลไกการจัดการเรื่องร้องทุกข์ในภาพรวมมีความล่าช้าและรวมศูนย์ โดยการตัดสินใจทั้งหมดกระจุกตัวที่กรุงเนปิดอว์ ในกรณีที่เป็นข้อร้องเรียนต่อนายจ้างไทย บทบาทของตัวแทนจัดหางาน/MOEAF ในการเจรจายังก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์อีกด้วย เนื่องจากตัวแทนจัดหางานเมียนมาไม่กล้าที่จะทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อนายจ้างไทยท่ามกลางตลาดที่มีการแข่งขันสูง นอกจากนั้น ประเทศเมียนมายังมีการส่งทูตแรงงานไปประจำที่ประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่ให้การช่วยเหลือในกระบวนการแก้ไขข้อพิพาท แต่เจ้าหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวมีทรัพยากรจำกัดและยังต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากตัวแทนจัดหางานอีกที

กลไกการจัดการเรื่องร้องทุกข์ของประเทศไทยเน้นที่แนวทางการยุติข้อพิพาทเช่นเดียวกัน ระบบรับเรื่องร้องเรียนมีความแยกส่วนและความพยายามในการจัดตั้งศูนย์บูรณานาการยังไม่สามารถจูงใจแรงงานให้มาใช้บริการได้เท่าที่ควร รวมถึงแรงงานประมงด้วย แม้ว่าแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในบ้านและในภาคเกษตรกรรมมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่ในทางปฏิบัติ พวกเขามีความยากลำบากในการเข้าถึงกลไกการร้องเรียนสูงกว่ามาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทำงานที่แยกออกจากผู้คนและสถานะไม่ปกติ (ซึ่งพบได้โดยทั่วไปในทั้งสองงาน) ส่วนแรงงานขายบริการทางเพศแทบไม่มีการเรียกร้องการเยียวยาเนื่องจากกลัวการถูกจับกุม/ส่งกลับประเทศ แรงงานส่วนใหญ่ยังมักจะขอความช่วยเหลือจากครอบครัว/เพื่อนและองค์กรเอ็นจีโอเป็นหลัก แทนที่จะไปยื่นเรื่องร้องเรียนกับรัฐ การฟ้องร้องทางแพ่งและการดำเนินคดีอาญาเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับแรงงานข้ามชาติ แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรเอ็นจีโอบางองค์กรทำ ร่วมกับการสนับสนุนที่จำเป็นอื่น ๆ เพื่อให้แรงงานได้รับการเยียวยาทางกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น เพราะแรงงานข้ามชาติเข้าถึงกลไกต่าง ๆ ได้ยาก เนื่องจากการเลือกปฏิบัติ อุปสรรคทางด้านภาษา และอุปสรรคอื่น ๆ กระบวนการในศาลยังกินเวลานานและบ่อยครั้งแรงงานที่ต้องขึ้นศาลต้องกลับประเทศก่อนที่คดีจะสิ้นสุดลง ซึ่งยิ่งจะทำให้แรงงานไม่เลือกใช้ช่องทางดังกล่าว นอกจากนั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ยังส่งเสริมการแก้ไขข้อพิพาทนอกศาล ซึ่งทำให้แรงงานเสียเปรียบ การชดเชยส่วนใหญ่พบได้มากในคดีการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน การตอบโต้แรงงานและผู้สนับสนุนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป แรงงานต้องเผชิญการถูกข่มขู่ว่าจะโดนไล่ออกหรือโดน “ขึ้นบัญชีดำ” อย่างไม่เป็นทางการในหมู่นายจ้างในพื้นที่ ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ยังฟ้องคดีหมิ่นประมาทแรงงานกลับอีกด้วย แนวปฏิบัติดังกล่าวทำให้สำนักข่าวไม่กล้ารายงานเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นและการร้องเรียนในอนาคต การดำเนินคดีตัวแทนจัดหางาน/นายหน้าอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก แม้รัฐบาลจะมีการเพิ่มความถี่และจำนวนของการตรวจแรงงานในภาคประมง แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การดำเนินคดีการละเมิดสิทธิแรงงานตามไปด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินคดีค้ามนุษย์มีความไม่ชัดเจน การตัดสินโทษในประเด็นสิทธิแรงงานโดยรวมเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก

ข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลไทย

  • ทบทวนกลไกรับร้องเรียนและชดเชยที่มีอยู่ร่วมกับภาคประชาสังคมและกลุ่มแรงงาน เพื่อรับประกันว่า กลไกมีความเรียบง่ายและเหมาะสมต่อจุดประสงค์ที่กำหนด รวมถึงการให้แรงงานข้ามชาติทุกคน รวมถึงแรงงานทำงานในบ้านและภาคเกษตรกรรม สามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรเอ็นจีโอ

  • รับประกันว่า แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านการเงินของรัฐบาลสำหรับที่พักอาศัยและบริการด้านกฎหมาย

  • รับประกันว่า ผู้ที่ติดต่อสายด่วนของรัฐบาลทุกคนจะรับทราบถึงสิทธิในการยื่นข้อร้องเรียนและขอค่าชดเชยอย่างเป็นทางการ และจัดการรณรงค์เชิงข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้แรงงานรับทราบถึงกรณีที่แรงงานมีสิทธิในการเปลี่ยนนายจ้างและกระบวนการที่เกี่ยวข้อง

  • ยกเลิกโทษหมิ่นประมาททางอาญา และรับประกันว่า แรงงานและผู้สนับสนุนแรงงานจะไม่ถูกดำเนินคดีจากการยื่นข้อร้องเรียนและ/หรือกิจกรรมรณรงค์ด้านแรงงานใดๆ