เมียนมาร์ ไทย

เมียนมาร์ - ไทย: กลไกในการนำระบบกฎหมายและข้อบังคับไปปฏิบัติและบังคับใช้

กลไกในการบังคับใช้กรอบกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ มีความอ่อนแอในทั้งสองประเทศ ขณะที่การคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ในประเทศเมียนมา รัฐบาลไม่มีกลไกตรวจสอบตัวแทนจัดหางานที่เพียงพอและแทบไม่มีการดำเนินการตรวจสอบเลย MOEAF มีหน้าที่สืบสวนข้อร้องเรียนจากแรงงานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบทบาทของ MOEAF ในด้านดังกล่าวก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างชัดเจน เนื่องจาก MOEAF ไม่เพียงแต่ถูกตั้งขึ้นในฐานะสมาพันธ์ของตัวแทนจัดหางานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิก (และจดทะเบียนเป็นองค์กรเอ็นจีโอ) เท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่อาวุโสของ MOEAF หลายคนยังเป็นเจ้าของ/ผู้บริหารของตัวแทนจัดหางาน ขณะทำหน้าที่กำกับดูแลอุตสาหกรรมนี้อีกด้วย ส่วนตำรวจมีหน้าที่สืบสวนข้อร้องเรียนต่อนายหน้า ซึ่งอยู่ในการควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทย แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้รับการอบรมในระดับต่ำและมีทรัพยากรน้อยในการทำการสืบสวน แต่ในปี 2556 ได้มีการตั้งกองปราบปรามการค้ามนุษย์ขึ้นมาโดยเฉพาะและมีทรัพยากรและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ปัญหาโครงสร้างยังคงมีอยู่ การประสานงานระหว่างกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากร ซึ่งนำโดยข้าราชการพลเรือน กับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนำโดยกองทัพ บ่อยครั้งมีความสลับซับซ้อน ขณะที่การร่วมงานระหว่างตำรวจและอัยการอยู่ในระดับแย่ ขณะเดียวกัน ปัญหาคอร์รัปชั่นก็สามารถพบได้ภายในกลไกการบังคับใช้กฎหมายเป็นปกติ ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าใครจะถูกลงโทษ และในลักษณะใด นอกจากนั้น ประชาชนยังขาดความไว้วางใจต่อตำรวจ ซึ่งเป็นผลพวงจากประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในหมู่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่ย้ายถิ่นฐาน

ปัญหาคอร์รัปชั่นปรากฏอยู่ทั่วไปในกระบวนการจัดหางาน และส่วนสำคัญในการเพิ่มต้นทุนสำหรับการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน ก่อนหน้านี้ มีกรณีการดำเนินคดีระดับสูงที่สามารถพบเห็นได้ไม่บ่อยนักกับทูตแรงงานของประเทศเมียนมาประจำกรุงเทพมหานคร ซึ่งโดนกล่าวหาว่าไปเรียกร้องเงินจากตัวแทนจัดหางานเมียนมาแลกกับการอนุมัติหนังสือแสดงความต้องการแรงงานจากฝั่งไทย อย่างไรก็ตาม ผู้จัดหางานกล่าวว่า พวกเขาต้องใช้วิธีการให้สินบนตลอดทั้งกลไก รวมทั้งเจ้าหน้าที่แรงงานและตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนที่ถูกถ่ายโอนไปยังแรงงาน จำนวนเงินดังกล่าวถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ตัวแทนจัดหางานเมียนมาจ่ายให้นายหน้า/ตัวแทนจัดหางาน/นายจ้างไทยเพื่อแลกกับสัญญาจัดหาแรงงานให้ เช่นเดียวกัน การคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งปกติธรรมดาอย่างยิ่งในหมู่เจ้าหน้าที่ประเทศไทย รวมถึงภายในหน่วยงานตำรวจและตรวจคนเข้าเมือง แม้ว่าระหว่างปี 2556 และ 2563 จะมีเจ้าหน้าที่รัฐเกือบ 120 คนที่ถูกลงโทษทางวินัย/ดำเนินคดี แต่จำนวนดังกล่าวก็ถือว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับขอบเขตของปัญหาทั้งหมด นอกจากนั้น ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับตัวแทนจัดหางานที่ถูกลงโทษ/ดำเนินคดีในลักษณะเดียวกัน และแม้ประเทศไทยจะมีการปฏิรูปกฎหมายและสถาบันต่าง ๆ เกี่ยวกับการปราบปรามคอร์รัปชั่น แต่ก็เป็นเพียงฉากหน้าให้ประชาชนดูเท่านั้น

ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินการสร้างศักยภาพให้แก่ระบบการตรวจแรงงานโดยทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความสนใจของประชาคมโลกต่อภาคประมง-อาหารทะเลของประเทศ ในปี 2558 กองทัพเรือถูกมอบหมายให้ควบคุมดูแลกลไกระหว่างหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อรับผิดชอบด้านการบังคับใช้กฎหมาย (รวมถึงด้านแรงงาน) กับเรือประมง ซึ่งภายหลังถูกโอนถ่ายให้แก่หน่วยงานพลเรือนในปี 2562 กลไกดังกล่าว รวมถึงการตรวจแรงงานระดับสูงด้านอื่น ๆ ปัจจุบันได้ลดระดับลง ซึ่งตอกย้ำมุมมองที่ว่า การปรับปรุงระบบการตรวจสอบใด ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปเพื่อตอบสนองต่อประชาคมโลกเท่านั้น และไม่ได้เป็นความพยายามเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมประมงระยะยาวอย่างยั่งยืนแต่อย่างใด จนถึงทุกวันนี้ จำนวนการตรวจแรงงานที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้นำไปสู่การดำเนินคดีหรือการตัดสินโทษที่สูงขึ้นเป็นนัยยะสำคัญตาม ทั้งในศาลแรงงาน (ผ่านกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) หรือศาลอาญา (ผ่านกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ของตำรวจและสำนักงานอัยการ)

ข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลไทย

  • แต่งตั้งหน่วยงาน/หน่วยปฏิบัติการพิเศษในการตรวจสอบแรงงานเพื่อให้การคุ้มครองแรงงานต่างชาติ ซึ่งมีอำนาจในการรับและตรวจสอบข้อร้องเรียน และดำเนินการตรวจสอบแบบสุ่มในภาคส่วนที่มีการจ้างแรงงานต่างชาติ รวมถึงตรวจสอบสถาบันจ้างงานเอกชนที่ทำการจัดหาแรงงานต่างชาติ องค์กรภาคประชาสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เชี่ยวชาญควรได้รับการขอคำปรึกษาหารือเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ที่แน่นอนของฝ่ายดังกล่าว ซึ่งควรมีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสัญญาจ้างและการจ่ายค่าธรรมเนียมในการจัดหางานเป็นอย่างต่ำ

  • รับประกันว่า กรมการจัดหางานมีทรัพยากรที่เหมาะสมในการดำเนินการตรวจสอบตัวแทนจัดหางานที่มีใบอนุญาตเพิ่มขึ้น และจนกว่าหน่วยงานตรวจสอบแรงงานข้างต้นจะถูกตั้งขึ้น กรมการจัดหางานยังควรดำเนินการตรวจสอบการจ้างงานของนายจ้าง โดยเฉพาะในภาคประมงและเกษตรกรรม