เมียนมาร์ ไทย

เมียนมาร์ - ไทย: แผนการออกใบอนุญาต

ประเทศเมียนมามีระบบการออกใบอนุญาตที่ค่อนข้างครอบคลุม เฉพาะตัวแทนที่มีใบอนุญาตเท่านั้นที่สามารถให้บริการจัดหางานให้แก่แรงงานที่สนใจได้ นอกจากนั้น ตัวแทนยังต้องมีใบอนุญาตต่างหากสำหรับการส่งแรงงานไปทำงานที่ประเทศไทย ข้อมูล ณ​ วันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ระบุว่าประเทศเมียนมามีตัวแทนจัดหางานที่มีใบอนุญาตจำนวน 347 ราย โดย 105 รายในนั้นมีใบอนุญาตให้ส่งแรงงานไปประเทศไทย ระบบการออกใบอนุญาตยังรวมข้อกำหนดในการเก็บค่าประกันจำนวนหนึ่งเพื่อไว้เบิกเงินคืนแก่แรงงาน หากมีความจำเป็นในภายหลัง และเพื่อการดำเนินการเพื่อระงับ/ยกเลิกใบอนุญาต แม้ว่ากฎนี้จะไม่ค่อยถูกนำไปใช้จริงก็ตาม มีตัวแทนจัดหางานเพียง 17 รายที่ถูกยกเลิกใบอนุญาตตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2563 คิดเป็นจำนวนน้อยกว่า 1% ต่อปี ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับการละเมิดกฎหมายที่เกิดขึ้นทั่วไปในอุตสาหกรรมการจัดหางาน ข้อบกพร่องที่สำคัญข้อหนึ่งในระบบการจัดหางานของประเทศเมียนมา คือ การไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ตัวกลางที่ไม่มีใบอนุญาต ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในระบบการจัดหางานโดยรวม โดยมีตัวแทนหรือนายหน้าที่ไม่มีใบอนุญาตเหล่านี้เป็นจำนวนหลายร้อยคนทำหน้าที่เชื่อมแรงงานในพื้นที่ชนบทเข้าก้บบริษัทตัวแทนจัดหางานในเมือง แรงงาน MOU ที่เราได้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่เคยใช้บริการนายหน้าเหล่านี้และจ่ายเงินรวมเป็นจำนวนสามถึงสี่เท่าของค่าธรรมเนียมจัดหางานที่รัฐบาลกำหนด ตัวแทนจัดหางานที่ไม่มีใบอนุญาตอาจถูกลงโทษจำคุกสูงสุด 7 ปีและปรับ แต่การบังคับใช้กฎหมายยังเป็นปัญหา อย่างไรก็ตาม แม้นายหน้าคนกลางจะมีส่วนในการเพิ่มต้นทุนในกระบวนการจัดหางานสำหรับแรงงาน แต่บทบาทและผลกระทบของพวกเขาอาจมีความละเอียดอ่อนมากกว่า เนื่องจากการไร้ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตลาดแรงงานที่เข้าถึงได้ง่ายในระดับหมู่บ้าน ประกอบกับความไม่ไว้วางใจ “คนนอก” และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอยู่ปกติทั่วไปเป็นทุนเดิม ทำให้แรงงานที่สนใจไปทำงานต่างประเทศมองว่า ตัวแทน/นายหน้าในพื้นที่ไม่เพียงแต่พึ่งพาได้เท่านั้น แต่ยังสามารถเรียกร้องให้รับผิดชอบได้ง่ายหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นคนใกล้ตัว

การกำกับดูแลตัวแทนจัดหางานในประเทศไทยอย่างเป็นระบบเพิ่งจะเริ่มมีตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา และค่อนข้างอ่อนแอ กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ตัวแทนต้องมี “ใบอนุญาต” ข้อมูล ณ​ เดือนพฤษภาคม 2573 ระบุว่า มีตัวแทนจัดหางาน 241 รายมีใบอนุญาตในการนำแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย ตัวแทนเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในนาม “บริษัทห้าล้าน” ซึ่งเรียกตามจำนวนเงินประกันที่ต้องจ่ายในฐานะเงินชดเชยสำหรับแรงงานหรือนายจ้าง นอกจากนั้น มีการรายงานว่าตัวแทนจัดหางานมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐและมีอิทธิพลต่อการออกกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ ความล้มเหลวที่สำคัญของกระบวนการออกใบอนุญาต ได้แก่ ความไม่สามารถในการควบคุมการจ้างงานแบบเหมาช่วง ซึ่งยังคงเกิดขึ้นแม้ว่าจะถูกประกาศห้าม ส่วนหนึ่งนี่เป็นผลมาจากช่องโหว่ในกฎหมายไทยที่อนุญาตให้นายจ้างสามารถจ้างแรงงานได้โดยตรงด้วยเงินประกันจำนวนต่ำกว่ามาก บริษัทตัวแทนที่ไม่มีใบอนุญาตหลายบริษัทจึงจ้างแรงงานในฐานะนายจ้างโดยตรง แล้วจึงทำสัญญาเหมาช่วงโอนแรงงานให้แก่นายจ้างอื่นต่อไป แนวปฏิบัติเช่นนี้เอื้อให้เกิดการแทนที่สัญญาและทำให้แรงงานข้ามชาติตกอยู่ในสถานะเปราะบาง นอกจากนี้แล้ว ยังมีนายหน้าที่ไม่มีใบอนุญาตที่ให้การ “อำนวยความสะดวก” แก่แรงงานที่มาถึงประเทศไทยแล้วเพื่อช่วยจัดการเกี่ยวกับแผนการและขั้นตอนต่าง ๆ ที่สลับซับซ้อนของรัฐ

ข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลไทย

  • ระบุกรอบการจ้างงานอย่างมีจรรยาบรรณเข้าไปในกลไกในการออกใบอนุญาตและกำกับดูแลอย่างเป็นทางการ ที่กำหนดให้ตัวแทนจัดหางานในปัจจุบันและอนาคตต้องปฏิบัติตามหลักการการจ้างงานที่มีจรรยาบรรณ ซึ่งได้รับการพิสูจน์และตรวจสอบโดยบุคคลภายนอกที่เป็นอิสระ

  • พิจารณานำมาตรการในการให้แรงจูงใจมาใช้สำหรับบริษัทตัวแทนที่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่า มีการดำเนินการตรวจสอบอย่างรอบด้านและมีความมุ่งมั่นในการบังคับใช้แนวปฏิบัติในการจ้างงานปราศจากค่าธรรมเนียมและหน้าที่ในการดูแลสำหรับแรงงานข้ามชาติอย่างแท้จริง

  • แก้ไขพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อขจัดช่องว่างที่อนุญาตให้ตัวแทนจัดหางานที่ไม่มีใบอนุญาตในการจ้างแรงงานในฐานะ “นายจ้าง” และจ้างเหมาช่วงพวกเขาในภายหลัง