เมียนมาร์ - ไทย: กรอบกฎหมายและข้อบังคับ
ประเทศเมียนมาและไทยต่างมีระบอบประชาธิปไตยที่อ่อนแอและไม่เสถียรและมีประวัติศาสตร์ในการถูกปกครองโดยรัฐบาลทหาร ทั้งสองประเทศมีกรอบกฎหมาย/ข้อบังคับด้านการย้ายถิ่นฐานที่แยกส่วนและไม่ได้มุ่งความสนใจไปที่สิทธิของแรงงานข้ามชาติเป็นจุดศูนย์กลาง หลังจากปิดประเทศเป็นเวลาหลายทศวรรษ ประเทศเมียนมาได้ดำเนินขั้นตอนปรับปรุงประเทศให้สอดคล้องกับระบบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมากขึ้นตลอดทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึงการให้สัตยาบันในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights: ICESCR) อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเหล่านี้ถูกบดบังโดยการรุมประนามของประชาคมโลกต่ออาชญากรรมอันโหดร้ายทารุณของเมียนมาต่อชาวโรฮิงญา ถึงกระนั้น ก่อนที่ประเทศเมียนมาจะมีการทำรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐบาลพลเรือนชุดแรกของประเทศเมียนมาก็ได้ทำงาน โดยได้รับการสนับสนุนเชิงเทคนิคจาก ILO และ IOM เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กรอบกฎหมาย/ข้อบังคับเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งยังคงไม่มีประสิทธิภาพและมาตรฐานเท่าที่ควรและเข้าถึงยาก ความคืบหน้าเป็นไปอย่างเชื่องช้า ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายเกี่ยวกับการจ้างงานในต่างประเทศปี 2542 (Law Related to Overseas Employment: LROE) ถูกดำเนินการแก้ไขมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ขณะเดียวกัน การปรึกษาหารือร่วมกับกลุ่มแรงงานเป็นไปอย่างจำกัดและไม่สม่ำเสมอ กลุ่มภาคประชาสังคมส่วนใหญ่ถูกละเลย ส่วนบริษัทจัดหางานมีสิทธิมีเสียงบ้างผ่านสหพันธ์ตัวแทนจัดหางานในต่างประเทศแห่งเมียนมา (Myanmar Overseas Employment Agencies Federation: MOEAF) การตัดสินใจถูกรวมศูนย์และกระจุกตัวที่เจ้าหน้าที่ทางการเมืองระดับสูง และแทบไม่มีการตรวจสอบผ่านระบบรัฐสภาหรือองค์กรระดับสูง กระบวนการย้ายถิ่นอย่างเป็นทางการ ซึ่งถูกออกแบบโดยมีตัวแทนจัดหางานเป็นจุดศูนย์กลาง มีข้อจำกัดจากกฎระเบียบที่ล้าหลังและเจ้าหน้าที่ที่มีแนวคิดแบบระบบราชการและสนใจแต่ประเด็นความมั่นคงและปัญหาคอร์รัปชั่น ผลลัพธ์ก็คือกระบวนการที่ยืดยาว ไม่โปร่งใส และราคาสูงสำหรับแรงงาน โดยเฉพาะหากมีนายหน้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและอนุสัญญา ILO หลัก ๆ ส่วนใหญ่ ยกเว้นอนุสัญญาเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติและอนุสัญญา ILO เกี่ยวกับเสรีภาพในการสมาคมและเจรจาต่อรองร่วม แม้ว่าแรงงานข้ามชาติจะมีสิทธิตามกฎหมายส่วนใหญ่เหมือนกับชาวไทย (ยกเว้นสิทธิในเสรีภาพในการสมาคม) แต่พวกเขาต้องเผชิญการเลือกปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างมีนัยยะสำคัญ สถานการณ์ดังกล่าวสร้างผลในเชิงลบสำหรับแรงงาน เช่น การเข้าถึงความยุติธรรม การจ้างแรงงานในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่ถูกควบคุมอย่างเป็นระบบจนถึงปี 2559 ตั้งแต่ปี 2560-61 พระราชกำหนดถูกใช้เป็นกรอบการทำงานหลักและมีผลบังคับกับแรงงานข้ามชาติทุกคน แม้ว่าจะมีช่องโหว่ที่สำคัญหลายจุด (เช่น เกี่ยวกับการเดินทาง การบรรจุแรงงาน และการกระจายข้อมูลข่าวสาร) การจ้างแรงงานประมงและแรงงานทำงานบนเรือยังมีกฎหมายบังคับเพิ่มเติม กรอบกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างงานส่วนใหญ่ออกโดยรัฐบาลทหารในรูปแบบพระราชกฤษฎีกา/พระราชกำหนด โดยมีการปรึกษาหารือกับกลุ่มต่าง ๆ เช่นกลุ่มแรงงาน น้อยมากถึงไม่มีเลย ประเทศไทยไม่มีหน่วยงานกลางของตัวแทนจัดหางาน แต่มีตัวแทนหลายองค์กรที่คาดว่าเป็นของผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ องค์กรของนายจ้าง เช่น สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ก็มีบทบาทเช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแรงงานที่ไม่มีเอกสารให้เป็นแรงงานในระบบเป็นลักษณะเด่นของประเทศไทยในกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยดำเนินการผ่านกระบวนการ/แผนการที่รัฐสภาประกาศ แรงงานทุกคนได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายคุ้มครองแรงงานโดยอัตโนมัติไม่ว่าจะมีสถานะทางกฎหมายแบบใด การแก้ไขกฎหมายด้านแรงงานต่าง ๆ รวมถึงภาคประมง เกิดขึ้นในบริบทของความไม่พอใจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่อประเด็นการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมดังกล่าว และการให้ใบเหลืองโดยสหภาพยุโรปและการถูกลดขั้นในรายงานการค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report) ของสหรัฐอเมริกา
ข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลไทย
ให้สัตยาบันในอนุสัญญา ILO ว่าด้วยสำนักจัดหางานภาคเอกชน ค.ศ. 1997 (ฉบับที่ 181)
ดำเนินการทบทวนกฎหมาย/ข้อกำหนดของประเทศที่เกี่ยวกับแรงงานต่างชาติทุกฉบับ หลังจากมีการปรึกษาหารือกับองค์กรแรงงานแล้ว เพื่อรับประกันว่า กฎหมายดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงานระหว่างประเทศ และได้อุดช่องว่างทางกฎหมายใดๆ ที่ค้นพบ
รับประกันว่า แรงงานต่างชาติ ไม่ว่าจะมีสถานะทางกฎหมายแบบใด จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพในการสมาคมและการเข้าถึงกลไกการร้องทุกข์