เมียนมาร์ - ไทย: มาตรการในการให้ข้อมูลที่แม่นยำแก่แรงงานและผู้อื่น
ประเทศเมียนมาขาดการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานที่น่าเชื่อถือและเข้าถึงได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศเยอะ ดังนั้น แรงงานจึงถูกผลักดันให้ไปใช้บริการของนายหน้าที่มีอยู่ทั่วไป ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนในการจัดหางานสูงขึ้น หนึ่งในปัจจัยที่สนับสนุนได้แก่กฎหมายปี 2502 ซึ่งห้ามไม่ให้ตัวแทนจัดหางานตั้งสำนักงานนอกเมืองย่างกุ้ง และคำสั่งกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากร ซึ่งห้ามไม่ให้ตัวแทนจัดหางานทำการโฆษณา ถึงแม้ว่าตัวแทนจัดหางานจะไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งห้ามโฆษณาอย่างเคร่งครัดและได้แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับงานบนสื่อโซเชียลบ้าง แต่เว็บไซต์ของตัวแทนก็มีลักษณะธรรมดา ไม่สมบูรณ์ หรือไม่ทันสมัย หน้าเพจเฟซบุค “Safe Migration” ของกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากรให้ข้อมูลเป็นภาษาพม่าที่มีประโยชน์สำหรับแรงงานกว่า แรงงานข้ามชาติที่ต้องการเดินทางไปแต่ละประเทศจะต้องเข้าร่วมการจัดอบรมปฐมนิเทศภาคบังคับที่จัดโดยตัวแทนจัดหางานเป็นเวลาสามวัน แต่ยกเว้นแรงงานที่ไปประเทศไทย เนื่องจากจำนวนแรงงานมหาศาลที่ต้องการไปทำงานที่นั่น ประเด็นนี้เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากแรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่มักมีการศึกษาและประสบการณ์น้อยและจะได้ประโยชน์จากการอบรมก่อนเดินทางมากที่สุด ในทางกลับกัน พวกเขาได้รับเพียงการบรรยายเพื่อให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสัญญาและสภาพการทำงานก่อนพิธีเซ็นสัญญาในเมืองย่างกุ้งและการนำเสนอเกี่ยวกับประเทศไทยสั้น ๆ ก่อนการเดินทางเข้าประเทศเท่านั้น นอกจากนั้น สหภาพแรงงานและองค์กรภาคประชาสังคมมีการจัดการอบรมของตนเองเช่นเดียวกัน แต่กิจกรรมดังกล่าวมักจำกัดจำนวนและมีคนสมัครเกิน องค์กรภาคประชาสังคมและสหภาพต้องเผชิญข้อจำกัดและอุปสรรคจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แม้ขณะการดำเนินกิจกรรมเชิงรุกของตนเอง ดังนั้น การเสริมสร้างการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลและองค์กรภาคประชาสังคม/สหภาพแรงงานจึงเป็นทางออกที่ชัดเจนในการให้ข้อมูลแก่แรงงาน
ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยเผยแพร่ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนที่เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว เว็บไซต์ของทางการให้ข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ เช่น กฎหมายและกฎระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี ข่าวความเคลื่อนไหวล่าสุด และสถิติอย่างละเอียด แต่ส่วนใหญ่ข้อมูลเหล่านี้มักออกมาเป็นภาษาไทย ซึ่งแรงงานไม่สามารถเข้าถึง และเอกสารต่าง ๆ มักล้าสมัย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไทยมีการผลิตสื่อต่าง ๆ ออกมาหลายภาษา ซึ่งครอบคลุมประเด็นสิทธิและหน้าที่ของแรงงาน รวมถึงเอกสารสำหรับแรงงานที่ไม่ปกติ/ไม่มีเอกสารที่อยู่ในประเทศด้วย เอกสารเหล่านี้ได้แก่ ประกาศเกี่ยวกับกระบวนการทำให้เป็นปกติ (เช่น การพิสูจน์สัญชาติ) และคำเตือนเกี่ยวกับกำหนดเวลาการลงทะเบียน ข้อมูลในลักษณะเดียวกันนี้ยังถูกเผยแพร่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ คลิปวีดีโอบนอินเตอร์เน็ต และสื่อโซเชียล นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่รัฐไทยยังมีการร่วมงานกับ ILO อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในประเด็นการคุ้มครองแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเล และความร่วมมืออันดีกับองค์กรเอ็นจีโอที่ทำงานสนับสนุนศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลทั้ง 10 แห่งและศูนย์ทรัพยากรสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการสนับสนุนโดย ILO 3 แห่ง ในหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังมีการเสริมสร้างความร่วมมือในภาคประมงกับองค์กรเอ็นจีโอในการสนับสนุนศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง 5 แห่ง ซึ่งดำเนินการคัดกรองแรงงานใหม่และตรวจสอบสัญญาจ้างด้วย องค์กรเอ็นจีโอและรัฐบาลยังร่วมจัดตั้งศูนย์ชาวประมงเพื่อทำงานร่วมกันในการให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือแก่แรงงานประมง นอกจากนั้น องค์กรเอ็นจีโอยังมีการจัดกิจกรรมของตนเองหลายกิจกรรม เพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถแสดงข้อกังวลต่อเจ้าหน้าที่รัฐได้โดยตรง แต่กิจกรรม “การมีส่วนร่วม” เหล่านี้มักเป็นไปอย่างผิวเผินและ/หรือเชิงสัญลักษณ์
ข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลเมียนมา
กำหนดให้แรงงานข้ามชาติในไทยได้รับการปฐมนิเทศภาคบังคับก่อนออกเดินทางเช่นเดียวกัน ซึ่งควรดำเนินการโดยปรึกษาหารือร่วมกับกลุ่มแรงงานและองค์กรภาคประชาสังคม โดยไม่มีตัวแทนจัดหางานเข้าร่วม
ส่งเสริมการทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม/สหภาพแรงงาน เพื่อรับประกันว่า แรงงานได้รับข้อมูลก่อนออกเดินทางและข้อมูลเกี่ยวกับตลาดแรงงานที่จำเป็นอื่นๆ รวมถึงในพื้นที่ชนบท เพื่อให้แรงงานสามารถทำการตัดสินใจในการย้ายถิ่นฐานอย่างมีข้อมูลครบถ้วน
ข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลไทย
รับประกันว่า ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติทุกชิ้น เช่น กฎหมาย แนวทาง ข้อมูลเกี่ยวกับค่าธรรมเนียม/ค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในกระบวนการ MOU ที่มีความซับซ้อนและกินเวลานาน ถูกเผยแพร่เป็นภาษาพม่าและภาษาอื่นๆ ที่แรงงานใช้